เมียฝรั่ง : ความฝัน ความจริง ความทุกข์ใจ และชะตากรรมอันโหดร้าย

ค่านิยมของหญิงไทยจำนวนหนึ่งที่แต่งงานกับชาวต่างชาติโดยพยายามมองข้ามความแตกต่างหลายด้าน บางรายอาจไม่รู้ความประสงค์ที่แท้จริงในการแต่งงานของฝ่ายชาย สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งแรงกดดันต่าง ๆ ที่ทำให้หญิงจำนวนหนึ่งในกลุ่มนี้ต้องขาดความสุข บางกรณีประสบการณ์อันโหดร้ายกลายเป็นรอยแผลบาดลึกในชีวิต

บีบีซีไทยพูดคุยกับหญิงสาวที่ประสบปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งเครือข่ายผู้หญิงไทยในต่างแดนที่คอยให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพื่อให้พวกเธอได้กลับมามีชีวิตปกติหรือได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน

ประสบการณ์อันโหดร้ายของนวล

เมื่อ 13 ปีก่อน นวล (นามสมมุติ) ต้องไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารในพัทยา เพราะครอบครัวของเธอ เอาที่นาไปจำนองหลังขายข้าวไม่ได้ราคา นวลที่เป็นลูกคนโตจึงต้องแบกรับภาระหาเงิน มาไถ่คืนที่ดิน และยังดูแลครอบครัวที่มีด้วยกัน 8 คน รวมทั้งลูกสาวของเธอที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยไม่ได้แต่งงาน กับชายคนรักที่หายหน้าไปแล้วด้วย

เมียฝรั่ง : เรื่องของความรัก หรือ อย่างที่คนเขาพูดกัน?
‘เจ้าสาวชาวไทย’: ผ่านไป 14 ปี เริ่มมีเบาะแสว่าร่างที่พบในอุทยานแห่งชาติอังกฤษ อาจคือ หญิงสาวจาก จ.อุดรธานี แต่ยังรอผลพิสูจน์ดีเอ็นเอ
มีเขยฝรั่ง ใช่ตกถังข้าวสารเสมอ
ตลอดสองปี เธอทำงานหนักและส่งเงินกลับบ้านโดยตลอด แต่นวลแอบหวังลึก ๆ ว่าอาจมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ กับใครสักคนที่รักเธอ และมีฐานะดีมากพอที่จะช่วยเหลือเธอได้ทั้งครอบครัว

จนกระทั่งได้พบผู้ชายชาวเยอรมันคนหนึ่งที่มารับประทานอาหารที่ร้านซึ่งเธอทำงานแทบทุกคืน ตลอดเวลาหนึ่งเดือน ที่เขามาเที่ยวที่พัทยา

“ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่ายังไงแต่เขามาชวนไปเที่ยวห้าง พาไปซื้อเสื้อผ้าให้ เลี้ยงข้าวร้านอาหารดี ๆ เขาบอกว่าไม่ได้อยากมาเที่ยวผู้หญิงที่พัทยา แต่มาหาภรรยา พอคบหากันได้สองอาทิตย์ ก็ขอเราแต่งงานและอยากให้เราย้ายไปอยู่กับเขาที่ยุโรป” นวลอธิบาย

แม้เธอไม่ค่อยแน่ใจนักกับการต้องใช้ชีวิตคู่กับคนที่เธอเพิ่งรู้จักได้เพียงแค่ไม่กี่วัน แต่ครอบครัวเธอเห็นว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างหนึ่ง และการได้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศก็ถือได้ว่าเป็นประตูไปสู่การยกระดับฐานะของคนทั้งครอบครัว การที่ทั้งเธอและครอบครัวจะได้มีหน้ามีตา นวลจึงตอบตกลง

เมื่อนวลย้ายไปอยู่กับสามีที่ประเทศเยอรมนี ช่วงแรกทุกอย่างดูจะเป็นไปได้ด้วยดี สามีของเธอเป็นคนขยันทำมาหากิน นวลจึงไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเดิม เพียงแค่ดูแลปรนนิบัติสามี แม้เขาดื่มหนักและขี้โมโห ทำร้ายเธอบ้างเวลาที่เขาเมา แต่นวลก็มีความสุขขึ้น ส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวมากขึ้นกว่าเดิม

อยู่มาวันหนึ่ง สามีของเธอก็พาเพื่อนผู้ชายกลุ่มหนึ่งมาดื่มเบียร์ที่บ้าน เธอคอยทำอาหารให้ แต่ก็สังเกตเห็นว่าสามี ได้พูดคุยอะไรสักอย่างเกี่ยวกับตัวเธอให้เพื่อนฟัง ก่อนที่เพื่อนคนนั้นจะยื่นซองสีน้ำตาลให้กับสามีของเธอ

“พี่ฟังไม่ออกหรอกว่าเค้าพูดอะไรกันเพราะพี่ไม่เข้าใจภาษาเยอรมัน แต่เค้าชี้ ๆ มาที่พี่แล้วก็ยิ้มให้ หลังจากเพื่อนเค้ากลับกันไปหมด สามีพี่เค้าก็บอกให้พี่เก็บของและเสื้อผ้าเพราะพี่จะต้องย้ายบ้าน ตอนนั้นพี่ยังไม่เข้าใจแต่ก็ทำตามเพราะไม่อยากถูกทำร้ายเหมือนตอนที่เขาเมา พอวันรุ่งขึ้นเพื่อนของเขาก็มารับพี่ไปอยู่ที่บ้านเขา” นวลเล่าให้บีบีซีไทยฟัง

นวลถูกใช้ให้ทำงานบ้าน ทำอาหาร และโดนบังคับให้ร่วมเพศกับเจ้าของบ้าน เธอรู้สึกเสียใจมากและอยากจะหนีกลับบ้าน นวลพยายามติดต่อสามี ที่เป็นผู้เก็บเอกสารการเดินทางของเธอทั้งหมดไว้ แล้วก็ได้รับคำตอบว่าไม่ต้องการเธอแล้ว และเขาส่งเธอให้เพื่อน “ดูแล” ต่อไป

จากนั้นเธอก็ถูกขายต่อไปเป็นทอด ๆ ต้องย้ายบ้านอยู่ถึง 5 ครั้งตลอดเวลา 6 ปี จนมาได้พบคนสุดท้าย นวลบอกว่าคนสุดท้ายที่ซื้อเธอไปปฏิบัติกับเธอดีกว่าทุกคน เขาบอกเธอว่าเขารับรู้เหตุการณ์ทั้งหมดมาโดยตลอด และสงสารนวลที่ต้องมาตกอยู่ในสถานะเช่นนี้ เขาจึงตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อยุติเรื่องนี้และจะดูแลเธอในฐานะคู่ชีวิตตลอดไป

“เขาถามพี่ว่าอยากอยู่ที่เยอรมนีต่อไปหรือกลับบ้านที่ไทย พี่บอกเขาว่าพี่อยากกลับบ้านเพราะกลัวว่าจะถูกขายอีก แฟนพี่เขาก็ยอมพาพี่กลับมาที่บ้านเกิด และตอนนี้เราก็อยู่ด้วยกันที่นี่ ทำไร่ทำนาด้วยกัน ใช้ชีวิตง่าย ๆ พี่ไม่คิดจะไปเมืองนอกอีกเพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำอีก” นวลกล่าว

นวลได้ย้ายกลับไทยเมื่อสามปีก่อน โดยไม่คิดที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีอะไรกับกลุ่มคนที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจเธอ นวลบอกกับบีบีซีไทยว่าเธอไม่อยากเผชิญหน้ากับคนกลุ่มนี้อีก และพร้อมจะให้อภัยกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ตราบใดที่เธอไม่ต้องพบเจอกับพวกเขาอีก

“เจ้าสาวชาวไทย” ในอังกฤษ

แม้นวลโชคร้าย แต่เธอก็ยังรักษาชีวิตเอาไว้ได้ ต่างจาก “สตรีแห่งขุนเขา” ที่เสียชีวิตเมื่อกว่า 14 ปีก่อนในอังกฤษ ยังรอการพิสูจน์ดีเอ็นเอว่าจะใช่ ลำดวน สีกันยา หญิงสาวชาวอุดรที่แต่งงานและย้ายไปอยู่กับชายชาวอังกฤษ จากนั้นก็ขาดการติดต่อกับคนในครอบครัวไปหรือไม่

การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม และโยกย้ายถิ่นไปอยู่ในที่ไม่คุ้นเคย ไม่เพียงจะทำให้เกิดความระหองระแหงของคู่ผัวตัวเมีย แต่อาจส่งผลรุนแรงต่อฝ่ายที่ไม่ใช่คนพื้นถิ่น นฐพร บุญยะกร ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายภาคีหญิงไทย ในสหราชอาณาจักร เห็นว่ากรณี “สตรีแห่งขุนเขา” นี้ ถ้าใช่ลำดวนจริง การหายตัวไปของเธอ ตลอดถึงการใช้เวลา เนิ่นนานในการระบุตัวตนของผู้ตาย “เป็นเพราะในอดีตการติดต่อกันของคนไทยที่ต่างบ้านต่างเมืองนั้นทำได้ยาก นอกจากนี้คนที่รู้จักเธอในอังกฤษก็ไม่น่าจะรู้ว่าเธอมีปัญหาอะไร และไม่รู้แม้กระทั่งว่าเธอหายตัวไป”

ขณะที่สมาชิกครอบครัวของเธอ ที่พยายามตามหาเธอตลอดมาแต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย

“หากเป็นปัจจุบัน หากมีใครหายไปเกิน 24 ชั่วโมงก็รู้กันทั่วแล้ว” นฐพรอธิบาย

เครือข่ายฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอังกฤษและประสบปัญหาต่าง ๆ นฐพรกล่าวว่า ในช่วง พ.ศ.2559-2560 มีผู้ร้องเรียนขอความช่วยเหลือถึงกว่า 2,000 ราย มีตั้งแต่ความขัดแย้งในครอบครัวในระดับต่าง ๆ ไปจนถึงการฟ้องร้อง, ปัญหาวีซ่าเข้าเมืองของภรรยาชาวไทย หรือ ปัญหาคู่สมรสเสียชีวิต แล้วต้องไปทำนิติกรรมต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ในฐานะภรรยา

แม้ผู้หญิงที่ดูน่าจะมีความพร้อมในการปรับตัว เช่น คนที่มีการศึกษาสูง ที่ใช้ภาษาได้ดีก็ยังอาจมีปัญหาได้เช่นกัน

“เศรษฐกิจของครอบครัวมีผลมาก นำมาสู่หลายปัญหาตามมา ด้วยค่าครองชีพที่สูง ผู้หญิงที่แต่งงานไปต้องช่วยเหลือตัวเองในทุกเรื่อง และยังต้องปรับตัวเรื่องการทำงาน บางคนจบปริญญาตรีหรือโทแล้วคิดว่าจะหางานทำได้ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ สุดท้ายจบที่ผู้ช่วยพยาบาล แม่บ้าน ทำอาหาร ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถนัด” นฐพรกล่าว และเพิ่มเติมว่าหญิงเหล่านี้อาจรู้สึกกดกันทางจิตใจ รวมทั้งรู้สึกอ้างว้าง

การให้คำปรึกษาออนไลน์โดยนักจิตวิทยาไทย เป็นสิ่งที่ทางเครือข่ายภาคีผู้หญิงไทยในสหราชอาณาจักรกำลังเร่งพัฒนา เนื่องจากมองว่าการปรึกษากับคนทั่วไปอาจแก้ปัญหาได้เพียงบางส่วน การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงน่าจะช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้

ความรู้สึกโดดเดี่ยวและด้อยค่า

งานวิจัยของภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ (University of Sussex) ระบุว่า ปัญหาเบื้องต้นที่พบในหมู่หญิงไทยที่ไปแต่งงานใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น คือ ความโดดเดี่ยว พวกเธอจำเป็นต้องปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมใหม่ การได้รู้จักคนไทยด้วยกันผ่านเครือข่ายสังคมต่าง ๆ เป็นจุดเริ่มต้นทำให้รู้จักผู้คน ปรึกษาหารือปัญหาและขอรับความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น และมีไม่น้อยที่สามีต่างชาติเป็นผู้แนะนำให้รู้จักเครือข่ายสังคมเหล่านี้

“เครือข่ายทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยผู้หญิงไทย ถ้าเขาไม่รู้จักใครเลย ตอนเกิดปัญหาก็จะไม่รู้ว่าต้องขอความช่วยเหลือจากใคร ร้านขายของไทย ร้านอาหารไทย และวัดไทย ช่วยคนไทยที่ไม่รู้จะเริ่มต้น ปรับตัวยังไงได้เยอะมาก” ภัทราภรณ์กล่าวกับบีบีซีไทย

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่มีความสามารถ ไม่ใช่คนพื้นถิ่น ไม่เหมาะสมที่จะอยู่ที่นั่น ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดจาการถูกกดดันหรือเหยียดหยามจากคนรอบข้าง แต่เกิดจากความคิดของตัวเองทั้งสิ้น

งานวิจัยชิ้นนี้เก็บข้อมูลสัมภาษณ์เชิงลึกจากหญิงไทยกว่า 30 คน และเก็บข้อมูลอย่างกระจายตัวรอบอังกฤษอีกกว่า 300 คน โดยเป็นผู้มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 48% รองลงมาคือ ปวช. 19% ระดับปริญญาตรีและโท 11.7% และ 4% ตามลำดับ

“กฎหมายครอบครัวเป็นความรู้พื้นฐานที่ผู้หญิงไทยที่จะแต่งงานมาอยู่ที่นี่ควรรู้ อย่างตอนแต่งเราก็คงไม่คิดถึงวันหย่า แต่หากเกิดขึ้นจริงเราก็ไม่มีสิทธิ์พาลูกกลับเมืองไทยโดยที่พ่อไม่ยินยอม เพราะเท่ากับการลักพาตัวพลเมืองของเขา บางคนเผลอตีลูกซึ่งเป็นเรื่องผิดที่โน่น” ภัทราภรณ์ชี้

“ภาษา วัฒนธรรม และอาชีพ คือสามสิ่งที่ผู้หญิงไทยต้องเตรียมตัวก่อนที่จะไปอยู่ที่นั่น” นฐพรให้ความเห็น ด้วยเหตุผลที่ว่าการสื่อสารนอกจากจะทำให้พูดคุยกับลูกที่เกิดในต่างแดนได้เข้าใจแล้ว ยังช่วยประคับประคองครอบครัว ส่วนเรื่องวัฒนธรรมเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม อย่างการทำอาหารที่มีกลิ่นเหม็นก็นำมาสู่การทะเลาะกันในครอบครัวได้

ยุโรปตะวันออกจุดหมายใหม่เจ้าสาวไทย

ข้อมูลจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ซึ่งได้มาจากรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ) พบว่าเมื่อปี 2560 ในยุโรปมีคนไทยที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ ทั้งชายและหญิง 108,763 คน โดยเป็นผู้หญิงที่ระบุได้ถึง 36,775 คน อย่างในอังกฤษมีสถิติการแต่งงานกว่า 17,272 คน ในสวิสเซอร์แลนด์มีหญิงไทยที่แต่งงานอยู่ที่นั่นกว่า 10,000 คน และในเดนมาร์กมีหญิงไทยกว่า 15,863 คน

ฝั่งยุโรปตะวันออก มีคนไทยที่ไปแต่งงานอาศัยอยู่ราว 654 คน ระบุได้ว่าเป็นผู้หญิง 439 คน ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศสโลวะเกีย 152 คน สาธารณรัฐเช็ก 105 คน และโรมาเนีย 65 คน

แม้จำนวนหญิงไทยในยุโรปตะวันออกจะยังมีน้อย แต่ธัญกร ใจสมัคร เฟย์ทินแกร์ ประธานมูลนิธิหมู่บ้านไทย (Thai Town Foundation) ในฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป กล่าวกับบีบีซีไทยในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ตอนนี้ประเทศทางยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก สโลวะเกีย, โปแลนด์, โรมาเนีย ฯลฯ กลายเป็นเป้าหมายใหม่ ที่หญิงไทยจะเดินทางมาอาศัยอยู่ รวมทั้งแต่งงานกับคนในท้องถิ่น

ชาติยุโรปตะวันออกเหล่านี้เพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในระยะหลัง และคนก็เพิ่งรู้จักประเทศไทยจากการเดินทางท่องเที่ยว ชายหนุ่มบางส่วนจากประเทศเหล่านี้ จึงนิยมแต่งงานกับหญิงสาวที่ไม่ใช่คนในประเทศตัวเองด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ กัน

เธอเล่าว่าไม่ทราบจำนวนแน่นอนว่าหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวฮังกาเรียนหรือคนจายุโรปตะวันออกมากน้อยเพียงไร แต่จำนวนผู้หญิงที่แต่งงาน หรืออยากจะแต่งงานกับคนท้องถิ่นที่มาขอคำปรึกษาจากเธอผ่านเฟซบุ๊กของหน่วยงาน รวมทั้งไลน์ของมูลนิธิมีจำนวนหลายร้อยคนต่อวัน

อย่างไรก็ดี หญิงสาวที่แต่งงานกับชายในยุโรปตะวันออกไม่ได้มีชีวิตที่สุขสมหวังทุกคน มีผู้มาขอรับคำปรึกษา จากเครือข่ายฯ ในหลายประเด็น อาทิ สิทธิของภรรยาตามที่กำหนดในกฎหมายท้องถิ่น การนำลูกกลับประเทศไทยเมื่อแยกทางกับสามี ความรู้สึกไม่สบายใจว่าถูกดูถูก ความไม่เข้าใจในภาษาท้องถิ่น และวัฒนธรรมที่นำไปสู่ความเครียดในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งกรณีถูกทำร้ายร่างกาย หรือตามรังควานหากเลิกกันแล้ว

“เรามีกรณีใหญ่ ๆ อย่างทำร้ายร่างกาย รังควาน ฟ้องกันขึ้นโรงขึ้นศาล ราว ๆ 3-4 รายต่อปีเลยทีเดียว” ธัญกรเล่า

“ตอนนี้เรามีกรณีหนึ่งที่เมื่อแต่งงานแล้วมีลูก แต่ไม่สามารถทนอยู่กันได้ เพราะสามีใช้ความรุนแรง และบังคับจิตใจต่าง ๆ นานา ซึ่งทางมูลนิธิก็เข้าไปช่วยเหลือ ฟ้องร้องเพื่อหย่าร้างและเรียกร้องสิทธิ์ในการดูแลลูก นอกจากนี้มูลนิธิยังให้ที่พักพิง ซ่อนตัว เพราะสามีตามรังควานไม่เลิกและขึ้นศาลมาปีกว่าแล้ว ผู้หญิงก็ยังติดอยู่ทางนี้ คดีไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไร” ธัญพรกล่าว

เธอชี้อีกว่าประเทศยุโรปตะวันออกไม่มีประสบการณ์รับมือกับปัญหาทางกฎหมายของภรรยาต่างชาติ และยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่รับผิดชอบปัญหานี้ เมื่อเกิดคดีความฟ้องร้องจึงมีความคืบหน้าช้ามาก แม้แต่โครงการอบรมเพื่อให้รู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรสำหรับภรรยาต่างชาติก็ยังไม่เกิดขึ้น

“ปัญหาใหญ่ของผู้หญิงไทยคือ ไม่มีความเข้าใจประเทศยุโรปตะวันออกเพียงพอ ส่วนใหญ่จะรู้จักกันทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก เมื่อรู้จักกันไปสักพัก ก็คิดฝันว่านี่คือคนที่ใช่ หรือคิดว่าเขามีฐานะดี มีบ้านมีรถที่ดูดี ก็เลยตกลงใจแต่งงานกับเขาอย่างรวดเร็ว เมื่อย้ายมาอยู่แล้วก็พบว่าชีวิตไม่ได้เป็นดังที่ฝันเอาไว้”

ธัญพรยังเล่าอีกว่าจากประสบการณ์ทำงานในส่วนนี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าหญิงไทยที่อยู่ในสถานะดังกล่าวมีอายุราว 20 ปีเศษ

คู่สมรสที่อยู่ในไทย

สำหรับหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติและอาศัยอยู่ในไทย บางคู่ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาเช่นกัน

“เห็นได้ว่ามีสัญญาณแสดงให้เห็นความรุนแรงในครอบครัว กว่า 50% จากจำนวนผู้หญิงที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ 300 กรณี แม้บางกรณีไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกายรุนแรง แต่ก็สร้างความอึดอัดใจ” ดร.ทิพย์สุดา ปรีดาพันธ์ ผู้วิจัยเรื่อง”ความมั่นคงของผู้หญิงที่สมรสข้ามวัฒนธรรมในประเทศไทย” ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย

ดร.ทิพย์สุดา ให้ข้อมูลว่าระหว่างการทำงานวิจัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเก็บข้อมูลเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยผู้หญิงไทยมักมีความกังวลที่จะให้ข้อมูล รวมทั้งไม่กล้าให้ข้อมูลหากสามีอยู่ด้วยในขณะนั้น

สิ่งที่พบอีกประการหนึ่งคือสาเหตุของความรุนแรงบางครั้งไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมของสามีต่างชาติเพียงอย่างเดียว แต่พฤติกรรมการติดการพนันของผู้หญิงไทยบางราย ก็นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งและทำร้ายร่างกาย

“มีเคสหนึ่งสามีไม่ยอมให้ภรรยาไปงานศพเพื่อนบ้าน เพราะยึดถือประเพณีของตนเองเป็นที่ตั้ง ภรรยาต้องแอบไปจนทำให้เกิดการทะเลาะกันในครอบครัว” ดร.ทิพย์สุดากล่าว และชี้ด้วยว่า สามีต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยเองก็เป็นฝ่ายต้องปรับตัว จึงจะประคับประคองครอบครัวและลดปัญหาความขัดแย้งได้

โดยเฉพาะในเรื่องภาษาที่มีหลายกรณีที่สามีต้องพึ่งพาภรรยาในการสื่อสารภาษาไทย และมีกรณีที่ไม่สามารถสื่อสารกันเองได้ ต้องจ้างนักแปลภาษา ซึ่งเป็นที่มาของความเครียด ฉุนเฉียว และความรุนแรงในครอบครัว

แนะนำการรับมือระยะยาว

“สิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ พม.จะต้องปูพรมกับอาสาสมัครในภาคสนาม อย่าง อสม. เริ่มจากให้อาสาสมัครเองเข้าใจเรื่องผู้หญิงไทยที่จะต้องปรับตัวเมื่อแต่งงานกับชาวต่างชาติ เพื่อช่วยคัดกรอง ให้ข้อมูล และเฝ้าระวัง ไม่ได้กีดกันไม่ให้แต่ง เพียงแต่สร้างความเข้าใจเพื่อให้เขาไม่ลำบากในอนาคต” รศ.ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการแรงงานและการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวกับบีบีซีไทย

รศ. ดร. ดุษฎีเป็นผู้ก่อตั้งโครงการคลินิกครอบครัวข้ามวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อทำความเข้าใจกับครอบครัว และตัวผู้หญิง ให้เข้าใจถึงสถานการณ์ความเสี่ยง, การรับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อสมรสกับชาวต่างชาติ, รู้ว่าประเทศปลายทางมีสภาพเศรษฐกิจ สังคม การใช้ชีวิตอย่างไร, เข้าใจการปรับตัว ใช้ชีวิตอยู่กับคนต่างชาติ การเข้าถึงแหล่งช่วยเหลือเมื่ออยู่ต่างประเทศ และยังคงมีการลงพื้นที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ของภาคอีสาน ทางอุดรราชธานี ขอนแก่น และชัยภูมิ

ภาษาถือเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่ผู้หญิงไทยต้องพัฒนา ไม่ใช่เพียงภาษาอังกฤษ ยังมีภาษาเฉพาะที่ใช้ในแต่ละประเทศ ซึ่งต้องใช้ในการดำเนินการเอกสารอย่างการขอวีซ่า ตลอดจนการสื่อสารกับครอบครัวใหม่ มากไปกว่านั้นจะต้องใช้ ในการประกอบอาชีพ เพราะมีเพียงส่วนน้อยที่แต่งงานไปเป็นแม่บ้าน โดยมากจะต้องทำงานไปด้วย

“พ่อแม่ที่นี่มีผลต่อความสำเร็จในการสร้างครอบครัวของลูก ด้วยพวกเขาไม่ได้มีวัฒนธรรมการอุ้มชู เลี้ยงพ่อแม่ภรรยาได้ แต่ไม่ใช่พี่น้องของภรรยา” รศ.ดร.ดุษฎี กล่าว

สิ่งหนึ่งที่คนไทยต้องทำความเข้าใจ คือไม่ใช่ชาวต่างชาติทุกคนที่มีฐานะดี ส่วนใหญ่ที่แต่งงานกับคนไทยมักเป็นชนชั้นกลางถึงล่าง สิ่งที่ทำให้เขาอยู่ได้คือสวัสดิการของรัฐ พวกเขาจึงมีความประหยัด และมีเหตุผลในการใช้เงินอยู่มาก